สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

กรณีใดบ้าง ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดเมื่อถูกฟ้องคดี

กรณีแรก ผู้ให้เช่าซื้อหรือธนาคารไม่ได้บอกกล่าวก่อนฟ้องคดีหรือบอกกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอันถือว่าไม่มีการบอกกล่าว ในกรณีถือว่าไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้หรือผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้องคดี หากไม่มีการบอกกล่าวแล้วย่อมไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันได้ โดยศาลได้วางแนวคำพิพากษาไว้ดังนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565 แม้สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นหนังสือบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ทราบภายในหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6        

ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

กรณีที่ ๒ กรณีมีการคืนรถยนต์และมีการขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าสัญญาเช่าซื้อ
ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อผู้เช่าซื้อ แต่มีบางกรณีที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อผู้เช่าซื้อโดยจำกัดความเสียหายได้ กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อมีการบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันรับผิดพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ รายนั้นบรรดาที่เกิดข้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ค่าขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อเป็นหนี้ประธานหรือหนีอุปกรณ์ โดยศาลได้วางแนวคำพิพากษาว่า ค่าขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อมีการขาดทอดตลาดแล้ว โดยมีการบอกกล่าวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในค่าขาดราคาต่อผู้ให้เช่าซื้อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2563 บันทึกการส่งมอบรถยนต์มีข้อความว่า ข้าพเจ้าประสงค์ขอเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เจ้าของได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาของข้าพเจ้า โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า บันทึกการส่งมอบรถยนต์เพื่อเลิกสัญญา และระบุสถานที่รับรถว่า เป็นการส่งมอบคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน และหากเจ้าของนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของจนครบถ้วน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันย่อมแปลความหมายได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เจ้าของ และตกลงจะรับผิดในบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยคู่สัญญาสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด การที่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อทรัพย์สินลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันโดยหนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนกลับต้นทาง และโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพียง 60 วัน เท่านั้น ส่วนค่าขาดราคาถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าขาดราคา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

จากสองกรณีศึกษาดังกล่าว มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อหรือรับผิดน้อยลงจากฟ้อง หากท่านผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจต้องการให้สำนักงานดำเนินการแก้ต่างคดีเกี่ยวกับการต่อสู้คดีเช่าซื้อ ในฐานะผู้ค้ำประกัน หรือในฐานะผู้เช่าซื้อเอง สามารถติดต่อมายังเบอร์โทร 095 778 8803

 

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

- การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร